บ้าน คือที่พักอาศัยของเรา เป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ แต่ปัจจุบันหลายบ้านได้ถูกสร้าง โดยลืมถึงสภาพภูมิอากาศที่ตั้ง เพราะทำเลพื้นที่ไม่อำนวย การใช้วัสดุที่ไม่เหมาะสม ทำให้ต้อง ปรับอากาศภายในบ้าน ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองและทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น หนทางที่จะลดการใช้ พลังงานคือการปรับเปลี่ยน วิถีชีวิต พฤติกรรม และใช้พลังงานให้คุ้มค่าที่สุด
การปรุงแต่งสภาพแวดล้อมภายนอกบ้านหรือการตกแต่งภูมิสถาปัตย์ให้เหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อการประหยัดพลังงานเป็นแนวความคิดหลักประการหนึ่งในการออกแบบ เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน ปัจจัยทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ แหล่งน้ำ ดิน ลม ลักษณะพื้นที่ ฯลฯ ล้วนมีอิทธิพลอย่างมากต่อสภาพแวดล้อมภายนอก และยังส่งผลถึงสภาวะภายในบ้านด้วย อีกทั้งปัจจัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่ได้มาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ดังนั้น การนำปัจจัยธรรมชาติมาใช้ประโยชน์จึงถือเป็นความได้เปรียบในการออกแบบ ทั้งนี้ผู้ออกแบบจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยธรรมชาตินั้น ๆ เป็นอย่างดี เพื่อให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในภาคเอกชน ด้วยข้อจำกัดทางด้านสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ดินสำหรับก่อสร้างอาคารบ้านเรือนมีราคาแพง ดังนั้น จึงไม่สามารถเลือกลักษณะพื้นที่และทิศทางของที่ดินได้ตามความต้องการ ซึ่งส่งผลให้การสร้างสภาพภูมิสถาปัตย์โดยรอบตัวอาคารด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น ดิน แหล่งน้ำ ทิศทางลม ฯลฯ ทำได้ยาก และต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ในภาคราชการ เช่น ภายในค่ายทหารมิได้มีข้อจำกัดในเรื่องนี้เลย ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าอาคารในอดีตส่วนใหญ่เป็นอาคารที่สร้างขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงปัจจัยด้านการประหยัดพลังงาน ทำให้การปรับปรุงอาคารที่มีอยู่ให้เป็นอาคารที่ประหยัดพลังงานมีความยุ่งยากและต้องใช้งบประมาณสูงมาก มูลค่าในการประหยัดพลังงานที่เกิดขึ้นจึงไม่คุ้มกับการลงทุนปรับปรุงอาคาร
ปัจจัยพื้นฐานที่ควรคำนึงถึงในการปลูกต้นไม้เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
เชื่อว่าทุกคนคงจะมีความเข้าใจพื้นฐานที่ดีอยู่แล้วว่าการปลูกต้นไม้จะช่วยให้เกิดร่มเงาและรู้สึกสบายขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดความสวยงามทางด้านภูมิสถาปัตย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งความเข้าใจเหล่านี้ถูกต้อง และได้รับการยืนยันจากการศึกษา และวิจัยจากหลายสถาบันแล้ว แต่อะไรเล่าที่เป็นเหตุผลหรือปัจจัยทางด้านเทคนิคที่จะอธิบายได้ว่าการปลูกต้นไม้บังแดดให้บ้าน มีผลทำให้เกิดความสบาย เหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐาน 5 ประการ ที่ควรคำนึงถึง คือ
1.การใช้ต้นไม้เพื่อการปรับแต่งสภาพแวดล้อม
2.สภาพภูมิอากาศ
3.การแผ่รังสีของดวงอาทิตย์
4.การถ่ายเทความร้อนผ่านผนังภายนอกอาคาร
5.การวิเคราะห์การใช้พลังงานของอาคาร
ต้นไม้ชนิดต่าง ๆ สามารถกรองรังสีของดวงอาทิตย์ได้ในปริมาณที่แตกต่างกันออกไป มีอัตราการกรองรังสีของดวงอาทิตย์อยู่ในช่วงตั้งแต่ 50% ถึง90% โดยต้นไม้ที่มีพุ่มใบหนาทึบมาก เช่น พิกุล ประดู่อังสนา ตีนเป็ดฝรั่ง ฯลฯ และต้นไม้ที่มีความหนาแน่นของพุ่มใบปานกลาง แต่มีใบขนาดใหญ่ หนาและเรียงตัวซ้อนหลาย ๆ ชั้น จะสามารถกรองรังสีของดวงอาทิตย์ได้สูงถึง 80% – 90% เลยทีเดียว สำหรับต้นไม้ที่มีพุ่มใบค่อนข้างโปร่ง หรือมีใบขนาดเล็ก เรียว แคบ เช่น สนประดิพัทธ์ หมาก และปาล์มขวด จะกรองรังสีจากดวงอาทิตย์ได้เพียงประมาณ 50% – ๖๐ % เท่านั้น